Last updated: 8 มิ.ย. 2564 | 2996 จำนวนผู้เข้าชม |
แม้คุณจะดูแลสุขภาพตัวเองได้ดีมากแค่ไหน แต่ความจริงที่ไม่มีใครสามารถหลีกหนีได้พ้นเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ นั่นก็คือความเสื่อมสภาพของระบบต่างๆในร่างกาย อันเนื่องมาจากอายุที่มากขึ้นนั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นการมองเห็น การเดิน การทรงตัว ข้อเข่า ข้อเท้าเสื่อม เกิดการอ่อนแรงหรือกล้ามเนื้อลีบ รวมไปถึงสมอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้สูงอายุรวมถึงครอบครัวและผู้ดูแล จะต้องเรียนรู้ เข้าใจ และพร้อมรับมือให้ได้
สมองเสื่อมเมื่อสูงวัย
โรคสมองเสื่อม เป็นกลุ่มอาการที่เกิดจากความเสื่อมของความจำ การคิดอ่าน การวางแผน การตัดสินใจ การใช้ภาษา ทักษะในการทำกิจกรรมต่างๆ ทำให้ไม่สามารถทำกิจกรรมหรืออาชีพที่เคยทำได้เช่นเดิม และอาจมีพฤติกรรมรวมถึงอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย
สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอาการสมองเสื่อม ที่พบบ่อยเป็นอันดับ 1 ก็คือ โรคอัลไซเมอร์ เกิดจากการที่เซลล์สมองเสื่อม ซึ่งจากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขพบว่า ประเทศไทยมีผู้ป่วยมากกว่า 6 แสนรายในปี 2558 ส่วนสาเหตุของสมองเสื่อมที่พบเป็นอันดับ 2 คือ สมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งพบในผู้ที่มีความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง สูบบุหรี่ หัวใจเต้นผิดจังหวะ ส่วนสาเหตุอื่นๆ เช่น สมองเสื่อมจากโรคพาร์กินสัน
ภาวะสมองเสื่อม คือ ภาวะที่การทำงานของสมองเสื่อมถอยลง เมื่ออายุเพิ่มขึ้นการทำงานของสมองจะแย่ลงเรื่อยๆ จนมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิต การช่วยเหลือตัวเองในการทำกิจวัตรประจำวัน โดยอาการเบื้องต้น ได้แก่
ความจริงแล้ว 2 ใน 3 ปัจจัยเสี่ยงของภาวะสมองเสื่อม ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องพันธุกรรม นั่นแปลว่าไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่คุณเลือกทำอยู่ทุกวันมีส่วนสำคัญอย่างมากในการช่วยเสริมสร้างสุขภาพสมองที่ดีได้แม้อายุจะมากขึ้น อีกทั้งยังมีผลการวิจัยด้วยว่าการออกกำลังกายเป็นประจำสามารถช่วยลดโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคสมองเสื่อมได้ ทั้งยังช่วยให้กลุ่มวัยกลางคนรวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุยังมีความจำที่ดีขึ้นด้วย
นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยอีกหลายฉบับที่กล่าวถึงการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ยังช่วยให้มีความจำที่ดีขึ้นไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ก็ตาม
ดังนั้น เพื่อการสูงวัยอย่างมีสุขภาพดี ทั้งสุขภาพกาย สุขภาพใจ และสุขภาพสมอง ลองทำตาม 4 เทคนิคง่ายๆ ดังนี้
1. เลือกทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ
เพราะการได้รับโภชนาการที่ดี ไม่เพียงแต่จะช่วยเสริมสร้างสุขภาพร่างกายเท่านั้น แต่ยังช่วยพัฒนาสุขภาพสมองควบคู่ไปด้วย จึงไม่ใช่เรื่องแปลกใจว่าทำไมอาหารประเภทที่อุดมไปด้วยไขมันและเกลือมากๆ จึงไม่ดีกับทั้งร่างกายและสมองของคุณ อีกทั้งหลายงานวิจัยยังระบุด้วยว่า คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน และธัญพืชที่ไม่ผ่านกระบวนการขัดสีทั้งหลาย ถือเป็นโภชนาการชั้นดีต่อสุขภาพสมองที่อาจช่วยลดโอกาสเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อม
นอกจากนี้ การรับประทานปลาอย่างน้อย 2 ครั้งต่อสัปดาห์จะทำให้ได้รับไขมันโอเมก้า 3 เพียงพอตามที่ร่างกายต้องการ ซึ่งช่วยปกป้องสมองและควบคุมระดับอารมณ์ให้คงที่ เนื่องจากกรดไขมันโอเมก้า 3 ในปลาหรืออาหารเสริมน้ำมันปลาจะช่วยสร้างปลอกหรือเยื่อหุ้มไมอีลิน (myelin sheath) ซึ่งมีหน้าที่ช่วยให้กระแสประสาทระหว่างเซลล์ประสาทในสมองเดินทางได้เร็วขึ้น ถ้าหากเยื่อหุ้มไมอีลินเกิดความเสียหายก็อาจนำไปสู่จุดเริ่มต้นของภาวะสมองเสื่อมได้
2. นอนให้พอและออกกำลังกายเป็นประจำ ช่วยขจัดความเครียด
อาการเครียดเรื้อรังสามารถส่งผลร้ายต่อสุขภาพได้ ตั้งแต่การนอนไม่หลับ น้ำหนักเพิ่มขึ้น ไปจนถึงโอกาสเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ ยังไม่นับรวมการบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกัน ระบบย่อยอาหาร และระบบประสาทส่วนกลางด้วย
การหันมาปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์เพื่อสุขภาพที่ดีสำคัญมากต่อการสูงวัยอย่างมีคุณภาพ เราจึงจำเป็นต้องนอนหลับให้เพียงพอ เนื่องจากการอดนอนจะทำให้แก่เร็วขึ้น การได้นอนหลับอย่างเต็มที่จะช่วยลดการอักเสบเรื้อรัง พัฒนาความจำและอารมณ์ความรู้สึก และช่วยให้คุณรับมือกับสถานการณ์ที่ตึงเครียดต่างๆ ได้ดีขึ้น
อีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยลดความเครียดก็คือการออกกำลังกายเป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นการเดิน วิ่งจ๊อกกิ้ง โยคะ รำไทเก็ก หรือเล่นเทนนิส เพราะการออกกำลังกายไม่เพียงแค่ช่วยลดโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้าเท่านั้น แต่ยังช่วยเพิ่มความสามารถด้านการรับรู้และการเรียนรู้ รวมถึงเพิ่มขนาดของสมองส่วนที่ดูแลควบคุมเรื่องความจำด้วย
แม้ว่าเราจะไม่สามารถขจัดความเครียดออกไปจากชีวิตได้ทั้งหมด เราก็สามารถเรียนรู้วิธีจัดการความเครียด เพื่อช่วยให้เราสามารถปกป้องดูแลสุขภาพหัวใจและสมองของเราไปพร้อมกันได้
3. หากิจกรรมสนุกๆ ฝึกสมองบ้าง
มีงานวิจัยมากมายที่ชี้ให้เห็นว่ากิจกรรมที่กระตุ้นสมองนั้นเชื่อมโยงกับการลดโอกาสเสี่ยงเป็นโรคสมองเสื่อมได้ ดังนั้นสิ่งสำคัญของกิจกรรมฝึกสมองคือ กิจกรรมนั้นต้องสนุกและท้าทายความสามารถ โดยหากคุณชื่นชอบท้าทายอะไรใหม่ๆ ให้ลองทำกิจกรรมที่คุณไม่เคยทำได้มาก่อน เช่น หัดเล่นเครื่องดนตรี เล่นหมากรุก หรืออะไรง่ายๆ อย่างเกมซูโดกุ ซึ่งกระบวนการเรียนรู้และการรับข้อมูลรวมถึงประสบการณ์ใหม่ การฝึกฝนทักษะที่แตกต่าง สามารถกระตุ้นการทำงานของสมองได้
4. ลด ละ เลิก เหล้าและบุหรี่
มีการศึกษาวิจัยในต่างประเทศ ถึงผลของการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งได้ทำการทดสอบกับกลุ่มตัวอย่างมากถึงหนึ่งล้านคน พบว่า ผู้ที่ดื่มเหล้าหนัก มีความเสี่ยงในระดับสุงต่ออาการสมองเสื่อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการสมองเสื่อมในระยะต้น ขณะเดียวกันก็มีข้อมูลมากมายที่เปิดเผยว่า การสูบบุหรี่มีส่วนทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมถึง 5 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่ไม่สูบบุหรี่ ดังนั้น การลดละเลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เหล้า เบียร์ และของมึนเมา ทั้งหลาย รวมถึงการไม่สูบุหรี่ จะช่วยลดโอกาสเสี่ยงของภาวะสมองเสื่อมได้
ปวยเล้ง & บร็อคโคลี่ 2 ผักบำรุงสมอง
ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมากมายหลายยี่ห้อ ที่ออกตัวว่ามีสรรพคุณช่วยบำรุงและดูแลสุขภาพสมอง แต่เชื่อว่าเป้าหมายของผู้บริโภคส่วนใหญ่ในปัจจุบัน ต้องการผลิตภัณฑ์ที่มาจากธรรมชาติ ดังนั้นเราลองมาทำความรู้จักกับผักชนิดหนึ่งที่ได้ชื่อว่ามีสรรพคุณบำรุงสมองและลดโอกาสการเกิดโรคสมองเสื่อมและอัลไซเมอร์ได้ นั่นก็คือ “ปวยเล้ง และ บร็อคโคลี่”
ปวยเล้ง คือหนึ่งในผักใบเขียวที่มีการศึกษาวิจัยมากมายทั้งในและต่างประเทศ โดยการศึกษาวิจัยในประเทศไทย ในเรื่องสรรพคุณของผักใบเขียวอย่างปวยเล้ง ซึ่งดำเนินการโดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ทีมวิจัยได้ศึกษาสรรพคุณจากผักใบเขียว พบว่า ปวยเล้ง หรือผักโขมจีน มีประสิทธิภาพในการป้องกันการทำลายสารสื่อประสาท ทำให้ลดความเสี่ยงโรคความจำเสื่อม โดยการทดสอบกลไกการออกฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาพบว่า สามารถลดระดับของเอนไซม์ที่ทำลายสารสื่อประสาท acetylcholine ในสมองได้เช่นเดียวกับยารักษาอาการของโรคอัลไซเมอร์ นอกจากนี้ยังผ่านการประเมินความปลอดภัยทั้งต่อสัตว์ทดลองและเซลล์เนื้อเยื่อ เมื่อศึกษาประสิทธิผลของผลิตภัณฑ์ต่อความจำในอาสาสมัคร 120 คน เปรียบเทียบกับยาหลอก พบว่าผลิตภัณฑ์จากปวยเล้งมีแนวโน้มในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสมอง โดยไม่มีผลข้างเคียงต่อร่างกายเมื่อรับประทานทุกวันเป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งปัจจุบันงานวิจัยดังกล่าวได้รับการต่อยอดและผลิตออกมาจำหน่ายในรูปแบบของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ขณะเดียวกัน “บร็อคโคลี่” ซึ่งเป็นหนึ่งในผักที่หลายคนนิยมรับประทาน นั่นก็เพราะรสชาติที่หวานกรอบ อีกทั้งยังสามารถนำมาประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู แต่น้อยคนจะทราบว่า นอกจากความอร่อยแล้ว “บร็อคโคลี่” ยังมีคุณประโยชน์อีกมากมายซ่อนอยู่ จนทำให้ได้รับการบรรจุเป็นหนึ่งใน superfood
“บร็อคโคลี่” ช่วยป้องกันภาวะสมองเสื่อมและโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งเรื่องนี้มีงานวิจัยยืนยันชัดเจน โดยงานวิจัยของมหาวิทยาลัยคิง คอลเลจ ลอนดอน ระบุว่า มีผักผลไม้เพียง 5 ชนิดเท่านั้น ที่มีสารประกอบซึ่งทำหน้าที่คล้ายยาที่ใช้รักษาโรคอัลไซเมอร์ ได้แก่ ส้ม, แอปเปิ้ล, มันฝรั่ง, หัวไชเท้า และบร็อคโคลี่ ซึ่งเป็นผักที่มีสารดังกล่าวมากที่สุด จึงไม่น่าแปลกใจที่บร็อคโคลี่จะถูกนำไปใช้เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหลายยี่ห้อ ที่มีคุณสมบัติช่วยบำรุงสมอง
เพราะไม่เพียงแค่สุขภาพกายและสุขภาพใจเท่านั้นที่ต้องการการดูแล แต่สุขภาพสมองสำหรับผู้สูงอายุก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน
ลาดพร้าว 101 เนอร์สซิ่งโฮม ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุที่เข้าใจทุกความต้องการของบุตรหลานและผู้สูงอายุ ทั้งยังตระหนักดีว่า ผู้สูงอายุแต่ละท่านมีข้อจำกัดหรือมีปัญหาสุขภาพที่แตกต่างกัน เราจึงจัดกิจกรรมสันทนาการและกิจกรรมที่ช่วยให้ผู้สูงอายุได้ฝึกคิด ฝึกบริหารสมองแบบครบรอบด้าน พร้อมดูแลเรื่องโภชนาการ มีเมนูอาหารที่เหมาะสำหรับผู้สูงอายุที่ต้องการการดูแลใส่ใจสุขภาพสมองเป็นพิเศษ
เพราะทุกปัญหาผู้สูงวัย วางใจให้เราดูแล ลาดพร้าว 101 เนอร์สซิ่งโฮม
ขอขอบคุณข้อมูลจาก :
- https://www.samitivejchinatown.com/th/health-article/Alzheimer-Signs
- https://med.mahidol.ac.th/th/news-clipping/health/newsclip09232014-1030-th
- https://www.ryt9.com/s/prg/1918895
- https://www.biobriteonline.com/content/11631/สารสำคัญในบร็อกโคลี่-คุณค่าดีๆ-ที่เปรียบเหมือนยาโรคอัลไซเมอร์