เนื่องจากอายุที่มากขึ้น ทำให้มีภาวะความเจ็บป่วยมากขึ้นตามไปด้วย “ผู้สูงอายุ” จึงเป็นกลุ่มบุคคลที่มีโอกาสในการใช้ยามากกว่าบุคคลกลุ่มอื่น อีกทั้งยังมีโอกาสในการใช้ยารักษาโรคหลายชนิดในเวลาเดียวกันด้วย
สิ่งที่ต้องระมัดระวังมากสำหรับการใช้ยาในผู้สูงอายุก็คือ การเกิดปฏิกิริยาต่อกันของยา หรือที่เรียกว่า “ยาตีกัน” อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงของระบบต่างๆ ในร่างกายคนวัยนี้ ยังส่งผลให้การดูดซึมยาและการกำจัดยาออกจากร่างกาย ไม่ดีเหมือนวัยหนุ่มสาว ทำให้มีความเสี่ยงในการใช้ยามากกว่า นอกจากนี้ปัญหาที่อาจเกิดทางอ้อม เช่น อ่านฉลากยาผิด อ่านไม่ครบถ้วน ซึ่งเกิดจากความเสื่อมของสายตาในวัยสูงอายุ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใส่ใจดูแลการใช้ยาของผู้ป่วยกลุ่มนี้
กลุ่มยาที่ผู้สูงอายุใช้บ่อย
- ยารักษาโรคประจำตัว เช่น ยาลดความดันโลหิต ยาลดระดับน้ำตาลในเลือด ยาลดไขมัน เป็นต้น
- ยานอนหลับ ยาคลายเครียด วัยสูงอายุมักพบปัญหาการนอนไม่หลับ นอนหลับยาก ตื่นบ่อยเวลากลางคืน ทำให้เกิดภาวะเครียด ทำให้ผู้สูงอายุหันมาพึ่งพายากลุ่มนี้มากขึ้น
- ยาแก้ปวด และยาคลายกล้ามเนื้อ อาการปวดเมื่อยอันเนื่องมาจากการเสื่อมของอวัยวะต่างๆ ท่าทางที่ผิดวิธี หรือจากน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีการใช้ยากลุ่มบรรเทาอาการปวดเมื่อยมากขึ้น แต่ถ้าใช้เกินความจำเป็นก็อาจทำให้เกิดอันตรายได้
- วิตามินและอาหารเสริม เมื่ออายุมากขึ้น คนส่วนใหญ่มักมองหาวิตามิน หรืออาหารเสริมบำรุงร่างกาย จึงทำให้ผู้สูงอายุมีการใช้วิตามินหรืออาหารเสริมมากขึ้น
- สมุนไพร ปัจจุบันยากลุ่มสมุนไพรมีบทบาทมากขึ้น เนื่องจากผู้ป่วยบางกลุ่มเลี่ยงการใช้ยาเคมีมาใช้กลุ่มยาสมุนไพร โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ
ปัจจัยที่ทำให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาในผู้สูงอายุ
- การได้ยาหลายชนิดในเวลาเดียวกัน ทำให้ยามีปฏิกิริยาต่อกันหรือยาตีกัน เช่น ผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงและโรคเบาหวาน ถ้าได้รับยาลดความดันโลหิตชนิดขับปัสสาวะ จะส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น การรักษาเบาหวานจึงมักไม่ได้ผล
- การเปลี่ยนแปลงของร่างกายในการออกฤทธิ์และกำจัดยาออกจากร่างกาย เนื่องจากผู้สูงอายุมีสัดส่วนของไขมันเพิ่มขึ้นและน้ำในร่างกายลดลง ทำให้ยาหลายชนิดมีระดับยาสูงขึ้นในร่างกาย อาจเกิดพิษได้ง่ายและยาออกฤทธิ์นานกว่าปกติ นอกจากนี้การที่ตับมีขนาดเล็กลง เลือดมาเลี้ยงลดลง โอกาสที่จะมียาตกค้างจึงสูง การกำจัดยาทางไต ทำได้ลดลงเนื่องจากไตทำงานลดลงตามอายุ ทำให้ขับยาออกจากร่างกายไม่ได้
- พฤติกรรมและทัศนคติของผู้สูงอายุต่อยา เช่น การซื้อยารับประทานเอง โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีปัญหาปวดตามข้อ มักซื้อยาชุด หรือยาลูกกลอนมารับประทาน เพราะเข้าใจว่าผลิตจากสมุนไพรจึงน่าจะปลอดภัย แต่ยากลุ่มนี้มักมีการผสมยากลุ่มสเตียรอยด์ จึงส่งผลเสียในระยะยาว เช่น กระดูกพรุน ต่อมหมวกไตฝ่อ และความดันโลหิตสูง เป็นต้น
- การไม่ไปพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ ผู้สูงอายุจำนวนมากไม่ชอบมาพบแพทย์ เนื่องจากข้อจำกัดทั้งทางด้านร่างกาย เช่น มีอาการเดินลำบากจากอาการปวด ทางด้านจิตใจ เช่น ไม่อยากรบกวนให้ผู้ดูแลพามาโรงพยาบาล รวมถึงข้อจำกัดทางด้านสังคมและเศรษฐกิจ เช่น การคมนาคมไม่สะดวก ปัญหาด้านค่าใช้จ่าย ทำให้ขาดการติดตามการรักษาจากแพทย์อย่างสม่ำเสมอ ญาติผู้ดูแลก็มีแนวโน้มไม่อยากที่จะลำบากพาผู้ป่วยมาพบแพทย์ จึงพบได้บ่อยว่าญาติมาขอรับยาเดิมจากแพทย์ โดยไม่พาผู้ป่วยมารับการติดตาม อาจทำให้ยาเหล่านี้จะสะสมจนเกิดเป็นพิษได้โดยไม่รู้ตัว
- การเก็บสะสมยา ผลจากการที่ผู้สูงอายุมักมีโรคเรื้อรังและได้รับยาหลายชนิด ผู้ป่วยบางรายอาจจะเก็บสะสมยาไว้ โดยไม่ได้รับประทานหรือรับประทานไม่หมด เมื่อมีอาการเจ็บป่วยก็จะเลือกรับประทานยาจากที่สะสมไว้ ชนิดที่เคยรับประทานได้ผล โดยยานั้นอาจจะหมดอายุแล้วหรือมีข้อห้ามใช้ยานั้นเกิดขึ้นใหม่ ทำให้เกิดผลข้างเคียงจากยาได้
เครื่องดื่มและอาหารที่ห้ามทานพร้อมยา
จะเห็นได้ว่ายาชนิดรับประทานในปัจจุบันมีหลายรูปแบบ เช่น ยาก่อนอาหาร พร้อมอาหาร หลังอาหาร หรือรับประทานตอนท้องว่าง จึงมักมีคำถามว่า ยาดังกล่าวนั้นสามารถรับประทานพร้อมอาหารหรือเครื่องดื่มใดได้บ้าง หรือไม่ควรรับประทานยาตัวไหนคู่กับอาหารชนิดไหน เพื่อให้ตัวยาที่รับประทานเข้าไปได้ประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการรักษาดีที่สุด
- แอลกอฮอล์ มีฤทธิ์กดประสาท หากรับประทานร่วมกับยาที่มีฤทธิ์กดประสาท เช่น ยาแก้แพ้ ยารักษาโรคเบาหวาน ยาคลายกังวล ยาต้านซึมเศร้า อาจทำให้กดประสาท ง่วงซึม ขาดสมาธิ ได้มากกว่าปกติ ถ้ารุนแรงก็อาจถึงขั้นหมดสติและหยุดหายใจได้ และแอลกอฮอล์ยังมีพิษต่อตับหากรับประทานร่วมกับยาพาราเซตามอล มีโอกาสทำให้เกิดตับวายเฉียบพลันได้ และจากคุณสมบัติในการเป็นตัวทำละลายที่ดี แอลกอฮอล์จึงอาจทำให้ยาถูกดูดซึมได้มากขึ้น ส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงจากการได้รับยาเกินขนาดได้ ดังนั้นการรับประทานยาต้องหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารหรือดื่มแอลกอฮอล์โดยเด็ดขาด
- ชา กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง สำหรับเครื่องดื่มกลุ่มนี้ มีสารกระตุ้นประสาทที่สำคัญ คือ คาเฟอีน หากรับประทานร่วมกับยาที่กระตุ้นระบบประสาท เช่น ยาขยายหลอดลม ที่รักษาอาการหอบหืด โดยยารักษาโรคหอบหืดจะช่วยให้หายใจสะดวกขึ้น ด้วยการเข้าไปผ่อยคลายกล้ามเนื้อปอด พร้อมเปิดช่องรับอากาศให้กว้างขึ้น แต่เมื่อมีคาเฟอีนเข้าไปจะทำให้เกิดผลข้างเคียงคือ หัวใจเต้นเร็ว, เกิดอาการทางประสาท และไวต่อสิ่งกระตุ้นต่างๆ อาจทำให้เกิดอาการเหล่านั้นมากขึ้นหรือนานขึ้น ทางที่ดีที่สุด ควรงดดื่มชา กาแฟ และเครื่องดื่มชูกำลังกับยา โดดเด็ดขาด
- นม น้ำเต้าหู้ และน้ำแร่ เครื่องดื่มหรืออาหารที่มีส่วนประกอบของนม น้ำเต้าหู้ น้ำแร่ มักมีแร่ธาตุและสารเคมีบางชนิด โดยเฉพาะแคลเซียม ซึ่งทำปฏิกิริยากับยาที่รับประทาน เกิดเป็นสารประกอบเชิงซ้อนที่ไม่ดูดซึม เมื่อยาไม่ถูกดูดซึมหรือดูดซึมได้น้อยลง ทำให้ประสิทธิภาพการรักษาต่ำลง ยาที่ไม่ควรรับประทานร่วมด้วย ได้แก่ ยาปฏิชีวนะ กลุ่มเตตร้าไซคลิน และยาต้านเชื้อกลุ่มควิโนโลน รวมถึงยารักษาโรคกระดูกพรุน กลุ่ม bisphosphonate ดังนั้นการรับประทานยาต้องเลี่ยงจากการรับประทานอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของนม น้ำเต้าหู้ น้ำแร่และแคลเซียม
- น้ำอัดลม และน้ำผลไม้ น้ำอัดลม มีฤทธิ์เป็นกรด ส่งผลกระทบต่อการกระจายและดูดซึมของยา ทำให้บางตัวยาดูดซึมได้มากขึ้นหรือน้อยลงกว่าปกติ ส่งผลต่อประสิทธิภาพการรักษา ซึ่งน้ำผลไม้โดยเฉพาะน้ำผลไม้ตระกูลซิตรัส เช่น น้ำส้ม น้ำมะนาว เกรปฟรุ๊ต ในน้ำผลไม้ตระกูลซิตรัส (ตระกูลส้ม) จะมีสารยับยั้งเอนไซม์ ที่ช่วยเปลี่ยนแปลงยาบางชนิด ทำให้ยามีประสิทธิภาพลดลง และอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์มากขึ้น เช่น การรับประทานพร้อมยาแก้ไอบางตัวทำให้เกิดผลข้างเคียงคือ เกิดภาพหลอน หรือเกิดอาการง่วงซึมได้ แต่ผลข้างเคียงที่กล่าวมานั้นจะเกิดขึ้นภายใน 24 ชม. หรือมากกว่า ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยาพร้อมน้ำอัดลม หรือน้ำผลไม้
- ผักและผลไม้ การรับประทานผักและผลไม้บางอย่างควบคู่กับการรับประทานยาบางชนิด อาจส่งผลเสียได้ เช่น กล้วย ถ้าต้องรับประทานยาเกี่ยวกับความดันโลหิตควรเลี่ยงการรับประทานกล้วย เพราะในกล้วยมีโพแทสเซียมสูง เนื่องจากผู้ที่กินยาลดความดันโลหิตในกลุ่มยา ACE inhibitors หรือ Angiotensin receptor blockers ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ให้โพแทสเซียมสูง ผักใบเขียว ควรเลี่ยงเมื่อรับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด เพราะในผักใบเขียวมีวิตามินเค ที่ช่วยทำให้เลือดจับตัวเป็นลิ่ม ดังนั้นการกินผักดังกล่าวในระหว่างที่ต้องกินยาต้านการแข็งตัวของเลือด วิตามินเคในผักจะเข้าไปรบกวนการทำงานของยา ทำให้ประสิทธิภาพการรักษาลดต่ำลง
ยังมีอาหารและเครื่องดื่มหลายชนิดที่ห้ามทานพร้อมยา หรือต้องระมัดระวังในการทานร่วมกัน ดังนั้นเมื่อต้องรับประทานยา “ดื่มน้ำเปล่ากับยาดีที่สุด” เพราะนอกจากจะไม่มีผลกับยาที่รับประทานแล้ว หากดื่มน้ำเปล่าในปริมาณที่เพียงพอยังช่วยละลายยา เพิ่มการดูดซึมและลดผลข้างเคียงบางอย่างที่เกิดขึ้นกับยาสิ่งสำคัญที่สุดของการใช้ยาในผู้สูงอายุ คือ การใช้ยาตามที่แพทย์สั่ง (เท่านั้น) พบแพทย์ตามนัดเป็นประจำโดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว ใช้ยาเมื่อจำเป็นจริงๆ เท่านั้น ห้ามใช้ยาที่หมดอายุ และก่อนใช้ยาควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้ง ข้อปฏิบัติง่ายๆ เพียงเท่านี้ ก็เป็นเกราะป้องกันอันตรายของการใช้ยาในผู้สูงอายุได้แล้ว...
ลาดพร้าว 101 เนอร์สซิ่งโฮม ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุและผู้สูงวัยที่เข้าใจทุกความต้องการของบุตรหลานและผู้สูงอายุ ด้วยทีมงานและบุคลากรทางการแพทย์วิชาชีพ ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการดูแลผู้สูงอายุมากว่า 10 ปี ไม่ว่าจะเป็นพยาบาล รวมถึงนักโภชนาการ ที่สามารถดูแลผู้สูงอายุที่คุณรักได้ครบถ้วนครอบคลุม พร้อมบริการจัดยาตามแพทย์สั่งให้กับผู้สูงอายุแต่ละท่าน จึงหมดกังวลเรื่องอันตรายของการใช้ยาในผู้สูงอายุไปได้เลย
เพราะทุกปัญหาผู้สูงวัย วางใจให้เราดูแล ลาดพร้าว 101 เนอร์สซิ่งโฮม
ขอขอบคุณข้อมูลจาก :
- https://healthserv.net/631
- https://www.bumrungrad.com/th/medical-clinics-bangkok-thailand/geriatric/services/elderly-medicine-usage
- https://www.motherandcare.in.th/motherandcare-family-เตือนภัย-เครื่องดื่ม-ห้ามกินคู่กับยา